10 เมษายน 2552

ประวัติและความสำคัญของพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนา

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประเภทอเทวนิยม และเป็นหนึ่งในสามของศาสนาโลก ผู้ประกาศศาสนาและเป็นศาสดาของศาสนาพุทธคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้เมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนวิสาขะหรือเดือน ๖ ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ประเทศอินเดีย ๔๕ ปี ก่อนพุทธศักราช ปัจจุบันสถานที่นี้ เรียกว่า พุทธคยา อยู่ห่างจากเมืองคยาประมาณ ๑๑ กิโลเมตร จากนั้นพุทธศาสนาได้แพร่หลายไปทั่วอินเดีย หลังพุทธปรินิพพาน 100 ปี จึงแตกเป็นนิกายย่อย โดยนิกายที่สำคัญคือ เถรวาทและมหายาน

พระโคตมพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน เดิมชื่อเจ้าชายสิทธัตถะ เกิดในศากยวงศ์ แห่งกรุงกบิลพัสด์ พระบิดาคือพระเจ้าสุทโธทนะ พระมารดาคือ พระนางสิริมหามายา เสด็จออกผนวชเมื่อพระชนมายุ 29 พรรษา บำเพ็ญเพียรอยู่ 6 ปี จึงตรัสรู้เมื่อ พระชนมายุ 35 พรรษา ทรงประกาศพระศาสนาอยู่ 45 ปี เสด็จปรินิพพานเมื่อพระขนมายุได้ 80 พรรษา ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของการนับพุทธศักราช เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี เพื่อโปรดปัญจวัคคีย์พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่พวกปัญจวัคคีย์ ชื่อ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ผลก็คือทำให้พระอัญญาโกณทัญญะได้เป็นพระโสดาบัน แล้วทูลขออุปสมบทในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ จึงเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก และพระรัตนตรัยจึงเกิดขึ้นในโลกเช่นกันในวันนั้น ต่อมาได้ทรงแสดงธรรมอื่นโปรดพระอีก ๔ องค์ จนเป็นพระโสดาบัน และเมื่อพระปัญจวัคคีย์เป็นพระโสดาบันหมดแล้ว ทรงแสดงธรรมอนัตตลักขณสูตร ผลปรากฏว่า พระปัญจวัคคีย์เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น ต่อจากนั้นได้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดพระยสะ และพวกอีก ๕๔ ท่านจนเป็นพระอรหันต์หมดจึงมีพระอรหันต์ทั้งสิ้น ในครั้งนั้นรวมทั้งพระองค์ด้วยเป็น ๖๑ พระองค์ พระพุทธเจ้าจึงสั่งสาวกออกประกาศศาสนา โดยมีพระปฐมวาจาในการส่งพระสาวกออกประกาศศาสนาว่า “ดูก่อนพระภิกษุทั้งหลาย เราหลุดพ้นจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ และของมนุษย์ แม้พวกเธอได้หลุดพ้นจากบ่วงทั้งปวงทั้งของทิพย์และของมนุษย์เช่นกัน พวกเธอจงเที่ยวไปเพื่อประโยชน์ และความสุขแก่มหาชน เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ พวกเธออย่าไปทางเดียวกัน ๒ รูป จงแสดงธรรมให้งามในเบื้องต้น ในท่ามกลางและในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะให้ครบถ้วนบริบูรณ์ สัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลี คือ กิเลส ในจักษุเพียงเล็กน้อยมีอยู่ แต่เพราะโทษที่ยังไม่ได้สดับธรรม จึงต้องเสื่อมจากคุณที่พึงจะได้รับ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้รู้ทั่วถึงธรรมมีอยู่ แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม” จึงทำให้พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองและแผ่ขยายไปในชมพูทวีปอย่างรวดเร็ว ชาวชมพูทวีปพากันละทิ้งลัทธิเดิมแล้วหันมานับถือเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้นโดยลำดับ เมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว ฐานะของพระพุทธศาสนาเดิมไม่แน่นอน เจริญบ้างเสื่อมบ้าง อันเนื่องมาจากเหตุภายใน คือพุทธบริษัทแตกสามัคคี ส่วนเหตุภายนอก คือ ถูกผู้มีอำนาจในศาสนาอื่นเบียดเบียนทั้งในรูปโดยตรง คือใช้กำลังเข้าทำลาย และโดยอ้อม คือ การกลืนศาสนาในรูปแบบต่าง ๆ แต่ในทางพระพุทธศาสนาได้หาทางแก้ไข เช่นมีการจัดทำสังคายนา ร้อยกรองพระธรรมวินัย ที่ถูกต้องไว้เป็นหลักฐานสำหรับยึดถือเป็นแบบแผนต่อไป การสังคายนาครั้งที่ 1 กระทำเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 3 เดือน ณ ถ้ำสัตบรรณคูหา กรุงราชคฤห์ มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน พระอานนท์เป็นผู้ให้คำตอบเกี่ยวกับพระธรรม พระอุบาลีเป็นผู้ให้คำตอบเกี่ยวกับพระวินัย มีพระอรหันต์เข้าร่วม 500 รูป กระทำ 7 เดือนจึงแล้วเสร็จ มีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อุปถัมภ์ การสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะพระสุภัททะกล่าวจาบจ้วงพระธรรมวินัยหลังพุทธปรินิพพานเพียง 7 วัน ทำให้พระมหากัสสปะ ดำริจัดสังคายนาขึ้น ในการสังคายนาครั้งนี้ พระอานนท์ได้กล่าวถึงพุทธานุญาตให้สงฆ์ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ แต่ที่ประชุมตกลงกันไม่ได้ว่าสิกขาบทเล็กน้อยคืออะไร พระมหากัสสปะจึงให้คงไว้อย่างเดิม เมื่อสังคายนาเสร็จแล้ว พระปุราณะพร้อมบริวาร 500 รูป จาริกมายังแคว้นราชคฤห์ ภิกษุที่เข้าร่วมสังคายนาได้แจ้งเรื่องสังคายนาให้พระปุราณะทราบ พระปุราณะแสดงความเห็นคัดค้านเกี่ยวกับสิกขาบทบางข้อและยืนยันปฏิบัติตามเดิม ซึ่งแสดงให้เห็นเค้าความแตกแยกในคณะสงฆ์ การสังคายนาครั้งที่ 2: การแตกนิกาย เมื่อพุทธปรินิพพานล่วงไป 100 ปี ภิกษุชาววัชชี เมืองเวสาลี ได้ตั้งวัตถุ 10 ประการ ซึ่งผิดไปจากพระวินัย ทำให้มีทั้งภิกษุที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จนเกิดการแตกแยกในหมู่สงฆ์ พระยสกากัณฑบุตร ได้จาริกมาเมืองเวสาลี และทราบเรื่องนี้ ได้พยายามคัดค้าน แต่ภิกษุชาววัชชีไม่เชื่อฟัง ภิกษุที่สนับสนุนพระยสกากัณฑบุตรจึงนำเรื่องไปปรึกษาพระเถระผู้ใหญ่ในขณะนั้นได้แก่ พระเรวตะ พระสัพกามีเถระ เป็นต้น จึงตกลงทำสังคายนาขึ้น ภิกษุชาววัชชีไม่ยอมรับและไม่เข้าร่วมการสังคายนานี้ แต่ไปรวบรวมภิกษุฝ่ายตนประชุมทำสังคายนาต่างหาก เรียกว่ามหาสังคีติ และเรียกพวกของตนว่ามหาสังฆิกะ ทำให้พุทธศาสนาในขณะนั้นแตกเป็น 2 นิกาย คือฝ่ายที่นับถือมติของพระเถระครั้งปฐมสังคายนาเรียก เถรวาท ฝ่ายที่ถือตามมติของอาจารย์ของตนเรียก อาจาริยวาท การสังคายนาครั้งที่ 3 การแพร่กระจายของพุทธศาสนาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เพื่อกำจัดพวกเดียรถีย์ปลอมบวชในพระพุทธศาสนา มีพระโมคคัลลีบุรติสสะเป็นประธาน ใช้เวลา 9 เดือนจึงสำเร็จในการสังคายนาครั้งนี้ พระโมคคัลลีบุรติสสะ ได้แต่งกถาวัตถุขึ้น เพื่ออธิบายธรรมให้แจ่มแจ้ง หลังจากการสังคายนาสิ้นสุดลง พระเจ้าอโศกฯได้ส่งสมณฑูต 9 สายออกเผยแผ่พุทธศาสนา คือ
1. คณะพระมัชฌันติกเถระ ไปแคว้นแคชเมียร์ และแคว้นคันธาระ
2. คณะพระมหาเทวะ ไป มหิสกมณฑล ซึ่งคือแคว้นไมซอร์ และดินแดนลุ่มแม่น้ำโคธาวารี ในอินเดียใต้ปัจจุบัน
3. คณะพระรักขิตะ ไปวนวาสีประเทศ ได้แก่ แคว้นบอมเบย์ในปัจจุบัน
4. คณะพระธรรมรักขิต ไป อปรันตกชนบท แถบทะเลอาหรับทางเหนือของบอมเบย์
5. คณะพระมหาธรรมรักขิต ไปแคว้นมหาราษฎร์
6. คณะพระมหารักขิต ไปโยนกประเทศ ได้แก่แคว้นกรีกในเอเชียกลาง อิหร่าน และเตอร์กิสถาน
7. คณะพระมัชฌิมเถระ ไปแถบเทือกเขาหิมาลัย คือเนปาลปัจจุบัน
8. คณะพระโสณะ และพระอุตตระ ไปสุวรรณภูมิ ได้แก่ ไทย พม่า มอญ
9. คณะพระมหินทระ ไปลังกา พุทธศาสนามหายานในอินเดียได้รับการสนับสนุนโดยราชวงศ์กุษาณ เมื่อสิ้นสุดราชวงศ์กุษาณ พุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์โดยราชวงศ์คุปตะ มีการสร้างศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนา คือ มหาวิทยาลัยนาลันทาและมหาวิทยาลัยวิกรมศิลา ในอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาจารย์ที่มีชื่อเสียง เช่น พระนาคารชุน พุทธศาสนาในสมัยนี้ได้แพร่หลายไปยังจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนกระทั่ง การสิ้นสุดอำนาจของราชวงศ์คุปตะจากการรุกรานของชาวฮั่นในพุทธศตวรรษที่ 11 บันทึกของหลวงจีนอี้จิงที่มาถึงอินเดียในพุทธศตวรรษที่ 12 กล่าวว่า พุทธศาสนารุ่งเรืองในอันธระ ธันยกตกะ และ ฑราวิฑ ปัจจุบัน คือรัฐอันธรประเทศและทมิฬนาดู ยังมีชาวพุทธในเนปาล และสสันภะ ในอาณาจักร คังทา (รัฐเบงกอลตะวันตกในปัจจุบัน) และ หรรษวรรธนะ เมื่อสิ้นสุดยุคอาณาจักรหรรษวรรธนะ เกิดอาณาจักรเล็กๆขึ้นมากมาย โดยมีแคว้นราชปุตให้การอุปถัมภ์พุทธศาสนา จนกระทั่ง ยุคจักรวรรดิปาละในเบงกอล พุทธศาสนามหายานรุ่งเรืองอีกครั้ง และได้แพร่หลายไปยังสิกขิมและภูฏาน ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13-17 เมื่อจักรวรรดิปาละปกรองด้วยกษัตริย์ราชวงศ์เสนะที่นับถือศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธจึงเสื่อมลง ศาสนาพุทธในอินเดียเริ่มเสื่อมลงอย่างช้า ๆ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ความเสื่อมในอินเดียตะวันออกเริ่มตั้งแต่จักรวรรดิปาละหันไปส่งเสริมศาสนาฮินดูไวษณพนิกาย ส่วนในอินเดียเหนือเริ่มเสื่อมตั้งแต่ พ.ศ. 1736 เมื่อชาวเติร์กที่นับถือศาสนาอิสลาม นำโดยมูฮัมหมัด คิลญี บุกอินเดียและเผามหาวิทยาลัยนาลันทา ตั้งแต่ พ.ศ. 1742 เป็นต้นไป ศาสนาอิสลามแพร่เข้าสู่พิหาร ทำให้ชาวพุทธโยกย้ายไปทางเหนือเข้าสู่เทือกเขาหิมาลัยหรือลงใต้ไปที่ศรีลังกา นอกจากนั้น ความเสื่อมของศาสนาพุทธยังเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของศาสนาฮินดู ภายใต้การนำของขบวนการต่าง ๆ เช่น อัธไวตะ ภักติ และการเผยแพร่ศาสนาของนักบวชลัทธิซูฟี